โปรโมชั่นสมาร์ทโฟน

LIV

STARTUP

Twiga Foods: M-Commerce ขวัญใจคนยาก

แกรนต์ บรู๊ค นักวิจัยจากออกซ์ฟอร์ดตะลึงมากตอนมาทำวิจัยเรื่องการส่งออกกล้วยที่เคนยาแล้วพบว่าชาวบ้านของประเทศยากจนแห่งนี้ต้องซื้อกล้วยในราคาเดียวกับที่อังกฤษ

ยิ่งขุดลึกลงไปถึงต้นตอ เขาก็ยิ่งอัศจรรย์ใจเข้าไปอีก เมื่อพบว่าสาเหตุไม่ได้มาผลผลิตตกต่ำ แต่มาจากระบบที่กระพร่องกระแพร่ง พูดง่าย ๆ ว่า กว่ากล้วยหวีหนึ่งจะมาถึงมือแม่ค้าในตลาดที่เมืองหลวงอย่างไนโรบี ต้องผ่านมือคนกลางมาไม่ต่ำกว่า 6 รอบ ทุกรอบต้องมีการบวกราคาเพิ่ม ทำให้ราคาสุดท้าย ณ หน้าเพิงผักเล็ก ๆ ในตลาดสดกลางเมือง มีราคาเท่ากับกล้วยที่ขายในห้างค้าปลีกที่ลอนดอน

ถึงจะเข้าใจว่า “ถ้าอยากช่วยคนจน จงอย่าให้ปลา แต่ให้สอนวิธีจับปลา” แต่แกรนต์คิดว่าหน่วยงานช่วยเหลือนอกจากส่งเสริมวิธีการเพิ่มผลผลิตแล้ว ก็ควรเข้ามาดูด้วยว่าเมื่อได้ผลผลิตมาแล้ว เกษตรกรมีโอกาสเข้าถึงตลาดแค่ไหน และจะลืมตาอ้าปากได้อย่างไรเมื่อยังโดยกดราคาจากระบบเดิม ๆ

แกรนต์เลยร่วมมือกับเพื่อนหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยการตั้งบริษัทชื่อว่า Twiga Foods เพื่อรับซื้อกล้วยจากชาวสวนในราคาสูงกว่าตลาด แล้วนำมาขายให้พ่อค้าแม่ค้าโดยตรงเพื่อตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้ยังเอาเงินที่ระดมมาได้ 13 ล้านเหรียญมาพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทั้งหมด รวมทั้งพัฒนา M-Commerce (Mobile Commerce) แอปพลิเคชันให้พ่อค้าแม่ค้าสั่งของและจ่ายเงินผ่านมือถือ

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ อีกทั้งยังเพิ่มรายได้ให้ชาวสวน ช่วยประหยัดต้นทุนให้พ่อค้าแม่ค้าตัวเล็กตัวน้อยในตลาด และทำให้ผู้บริโภคได้กินกล้วยราคาถูกลง

การบริหาร Supply Chain แบบนี้อาจฟังดูธรรมดาในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในเคนยาที่การขนส่งส่วนใหญ่ยังคงต้องพึ่งพาท้องถนนที่ไม่ได้มาตรฐาน การที่บริษัทแห่งหนึ่งมีวิธีร่นเวลาและทำให้การขนส่งสินค้าเกษตรจากชนบทสู่เมืองหลวงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เพราะผลที่ได้นอกจากจะช่วยเกษตรกรให้ขายพืชผลได้ราคาดีขึ้น แกรนต์ยังรับซื้อกล้วยในราคาสูงกว่าปกติเพื่อผูกใจชาวสวนให้นำพืชผลมาขายให้ บรรดาพ่อค้าแม่ค้าเจ้าของแผงก็ไม่ต้องแหกขี้ตาตื่นตั้งแต่ตี่สี่เพื่อไปแย่งซื้อของในตลาดกลางเหมือนก่อน เพราะแค่จิ้มมือถือไม่กี่ที ก็มีคนเอามาส่งให้ถึงหน้าร้าน แถมได้ราคาดีกว่าเดิม พลอยส่งผลให้ผู้บริโภคได้กินกล้วยราคาถูกลงด้วย

แกรนต์ใช้เวลาแค่ 4 ปีในการทำให้ Twiga Foods เป็นผู้จำหน่ายกล้วยรายใหญ่ที่สุดของไนโรบี โดยส่งกล้วยวันละกว่า 20 ตันให้พ่อค้าแม่ค้ากว่า 2,600 ราย นอกจากกล้วยแล้ว ตอนนี้ยังรับมันฝรั่ง มะเขือเทศ และหอมหัวใหญ่มาขายด้วย

ที่ M-Commerce ของ Twiga Foods ประสพความสำเร็จแบบนี้ก็ต้องยกความดีให้บริษัทมือถือที่ขยายเครือข่ายไว้ดีจนทำให้อัตราการเข้าถึงมือถือของเคนยามีสูงถึง 94% ทำให้มือถือกลายเป็นสื่อกลางที่เชื่อมต่อผู้คนกับบริการต่าง ๆ ตลอดจนการทำธุรกรรมการเงินที่สำคัญที่สุดของประเทศ และเพื่อเป็นการต่อยอด บริษัทยังจับมือกับ IBM นำระบบ blockchain มาใช้บนมือถือ เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยสามารถกู้เงินมาจ่ายค่าสินค้าด้วย

ถึงการปล่อยสินเชื่อก้อนเล็กให้ผู้มีรายได้น้อยจะมีมานานแล้วในประเทศยากจนอย่างเคนยา แต่พอนำ blockchain มาใช้ ก็ยิ่งทำให้สะดวกและปลอดภัยขึ้น เพราะทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสมัคร-การโอน-การทำสัญญาต่าง ๆ ล้วนทำอยู่บนระบบและอยู่ในสายตาของทุกฝ่าย ดังนั้นโอกาสที่จะโดนโกงหรือมีใครเล่นตุกติกจึงแทบไม่มี

IBM เลือกจับมือกับ Twiga Foods ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะระบบ M-Commerce ของ Twiga Foods เป็นระบบธุรกรรมผ่านมือถือที่พ่อค้าแม่ค้าคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีประวัติการจ่ายเงินทั้งหมด ทำให้ประเมินศักยภาพและความน่าเชื่อถือของผู้กู้ได้

วิธีกู้ก็ง่ายมาก เพียงสั่งสินค้าผ่านแอปฯ ของ Twiga Foods ตามปกติ พอสินค้ามาส่งแล้ว ระบบจะส่ง SMS มาถามว่าสนใจอยากกู้เงินเพื่อจ่ายสินค้าล็อตนี้มั้ย หากสนใจก็กดปุ่มนั้นไป เป็นอันเสร็จ

จากโครงการนำร่องในกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า 220 ราย เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าส่วนมากจะกู้กันประมาณ 30 เหรียญต่อครั้ง และสามารถคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย (1-2%) ได้ภายในเวลาแค่ 4-8 วัน โดยเงินก้อนนี้ช่วยเพิ่มยอดสั่งซื้อพืชผลได้ถึง 30% และทำให้พ่อค้าแม่ค้ามีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 6% บริษัทวางแผนจะขยายบริการใหม่นี้ไปยังพ่อค้าแม่ค้าทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งน่าจะต่อยอดกิจการของ Twiga Foods ไปได้อีกไกลเลยทีเดียว

เมืองไทยเราเองที่เคยได้ชื่อว่าเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” อีกทั้งยังเป็นแหล่งเพาะปลูกสินค้าเกษตรป้อนสู่ตลาดโลกมาช้านาน ก็ควรต้องเร่งหาทางนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน

อย่างโครงการ “ดีแทค ฟาร์มแม่นยำ” ซึ่งเป็นโครงการทดลองและวิจัยเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ควบคุมคุณภาพ และลดต้นทุนให้กับเกษตรกร โดยดีแทคและเนคเทค – สวทช. ร่วมกันพัฒนาโซลูชัน IoTs (Internet of Things) ขึ้นมาเพื่อช่วยตรวจสอบสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมในการเพาะปลูกต่าง ๆ โดยเนคเทคมีส่วนช่วยดูแลการวิจัยและผลิตอุปกรณ์ระบบเซ็นเซอร์ ในขณะที่ดีแทครับผิดชอบดูแลการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและวิเคราะห์ข้อมูลผ่าน dtac Cloud Intelligence

ที่สำคัญคือ ดีแทคยังช่วยด้านการขายพืชผลทางการเกษตรผ่านโครงการเกษตรเชิงพาณิชย์และการเชื่อมโยงกับผู้บริโภคผ่าน Freshket สตาร์ทอัพจากโครงการ dtac Accelerate ที่จะส่งผ่านผลิตผลการเกษตรจากฟาร์มไปถึงร้านอาหารชั้นนำด้วยค่ะ

ภาพ: https://twiga.ke/media-center/

บทความนี้ดัดแปลงจากต้นฉบับของผู้เขียนที่ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “สตาร์ทอัพ ปัญหาทำเงิน” ของ นสพ. ประชาชาติธุรกิจ