โปรโมชั่นสมาร์ทโฟน

LIV

STARTUP

FIGS แฟชั่นชิคๆ สำหรับคุณหมอ

เวลาดูพวกซีรีส์หมอ ๆ พอถึงคิวต้องผ่าตัด ทั้งหมอและผู้ช่วยฯ ต้องมาในชุดยูนิฟอร์มไม่สีเขียวก็สีฟ้าทุกที เจ้าชุดผ่าตัดไร้รูปทรงนี้เป็นดีไซน์อมตะอยู่คู่ห้องผ่าตัดมาหลายชั่วอายุคนไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทำให้อุตสาหกรรมผลิตชุดผ่าตัดกลายเป็นเสือนอนกิน ผลิตชุดผ่าตัดแบบเดียวนี้แหละทั้งปีทั้งชาติ ฟันรายได้ทั่วโลกปีละไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญ (ในอเมริกาประเทศเดียวก็ปาเข้าไปกว่าหมื่นล้านเหรียญ)

แต่ชะรอยชีวิตจะสบายเกินไป สวรรค์เลยส่งสตาร์ทอัพน้องใหม่มาป่วนวงการสักหน่อย ใครว่าเป็นหมอต้องแต่งตัวเชย ๆ เบ ๆ ไม่ทันแฟชั่น ถึงเวลาปรับลุคคุณหมอและนางพยาบาลให้ chic & cool กันแล้ว...

แต่ละแบบก็มีดีเทลเก๋ ๆ พอให้กระชุ่มกระชวย เช่น เสื้อแทนที่จะเป็นคอกลมแขนสั้นธรรมดา ก็มีทั้งแบบปกเชิ้ต คอจีน คอกลม คอวี ให้เลือก ส่วนกางเกงก็มาทั้งแบบขาตรง ขาใหญ่ ขาลีบ สกินนี่ ไปจนถึงทรงจ็อกเกอร์ที่กำลังนิยม

สตาร์ทอัพที่ว่านี้มีชื่อว่า FIGS ก่อตั้งในปี 2013 โดยสาวเก่ง 2 นาง ได้แก่ Trina Spear อดีตนักวิเคราะห์การลงทุนจากสถาบันการเงินชั้นนำ และ Heather Hasson ดีไซน์เนอร์ที่หลงใหลงานดีไซน์จนตัดสินใจเลิกเป็นนักศึกษาแพทย์แล้วหันมาลงเรียนวิชาการออกแบบแทน ทั้งคู่เป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่เกื้อหนุนกันและกันอย่างเหมาะเจาะ

Trina นั้นถนัดเรื่องวิเคราะห์ตลาด จึงรับหน้าที่ทำแผนการลงทุนและคิดกลยุทธ์นำเสนอสินค้าแบบใหม่ ๆ และแผนงานตลาด ส่วน Heather ในฐานะดีไซน์เนอร์ที่ประสพความสำเร็จจากวงการแฟชั่นของอิตาลีมากว่า 10 ปี รับหน้าที่คิดเรื่องดีไซน์ที่จะมาพลิกโฉมยูนิฟอร์มห้องผ่าตัดอันแสนน่าเบื่อให้มีชีวิตชีวา โดยนอกจากจะตอบโจทย์ด้านการใช้งานแล้ว ยังต้องมีดู chic & cool ไม่ซ้ำใคร

Heather เริ่มจากการพัฒนาเนื้อผ้าก่อน โจทย์คือต้องหาผ้าหรือสิ่งทอที่เหมาะกับการใช้งานในห้องผ่าตัด นั่นคือต้องมีคุณสมบัติในการกำจัดหรือยับยั้งแบคทีเรีย (Antimicrobial) ระบายอากาศได้ดี ไม่ดูดกลิ่น ไม่อับชื้น

เมื่อพัฒนาเนื้อผ้าได้ตามต้องการแล้ว ก็หาซัพพลายเออร์ที่เชื่อถือได้ ในที่สุดก็จบที่โรงงาน 27 แห่งในไต้หวัน ซึ่ง Heather ใช้เครือข่ายดีไซเนอร์ของเธอเสาะหามาจนเชื่อมั่นว่าสามารถผลิตสินค้าคุณภาพสูงตามมาตรฐานที่เธอตั้งไว้

จากนั้นก็มาถึงเรื่องงานดีไซน์ เธอออกแบบชุดยูนิฟอร์มให้เหมาะสมกับสรีระของผู้ส่วมใส่ของทั้งชายและหญิง ไม่ใช่แค่ Unisex เหมือนชุดผ่าตัดแบบเดิม ๆ ใส่แล้วดูมีรูปทรง ไม่เหมือนกล่องผ้าเดินได้อย่างแต่ก่อน

นอกจากนี้แต่ละแบบก็มีดีเทลเก๋ ๆ พอให้กระชุ่มกระชวย เช่น เสื้อแทนที่จะเป็นคอกลมแขนสั้นธรรมดา ก็มีทั้งแบบปกเชิ้ต คอจีน คอกลม คอวี ให้เลือก ส่วนกางเกงก็มาทั้งแบบขาตรง ขาใหญ่ ขาลีบ สกินนี่ ไปจนถึงทรงจ็อกเกอร์ที่กำลังนิยม นอกจากนี้ยังมีเสื้อยืดตัวในทั้งแขนสั้น แขนยาว ไว้ใส่สบาย ๆ ไปจนถึงเสื้อนอน เสื้อคลุมในห้องแล็บ และ accessories อย่างกระเป๋าผ้า ถุงเท้า และหมวกคลุมผม

สีสันของชุดก็มีให้เลือกมากขึ้น แทนที่จะเป็นสีเขียวมาตรฐานทั่วไป ก็มีโทนสีเท่ ๆ แต่ยังอยู่ในโทนสีสุภาพเหมาะสมกับสถานที่ อย่าง ดำ เทา น้ำเงิน ฟ้า แดงเลือดหมู มาเป็นออปชั่นเสริม

ตอนเปิดตัวใหม่ ๆ สองสาวทุ่มทุนตระเวนไปดักตั้งบูธหน้าโรงพยาบาลตอนหมอกับพยาบาลเลิกเวรหรือเปลี่ยนกะ ทุก 7 โมงเช้ากับทุ่มตรง แถมยังเป็นบริษัทแรกของวงการที่เปิดบูธขายของตามงานประชุมทางการแพทย์ต่าง ๆ จนเกิดเป็นกระแสปากต่อปาก

จากนั้นตามประสาสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ งานโปรโมตโหมกระแสผ่านโซเชียลมีเดียต้องมา งาน call center 24 ชั่วโมงต้องมี ซึ่งถือว่า FIGS เป็นเจ้าแรกของวงการที่นำโซเชียลและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ มาใช้ในการโปรโมตสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ

เมื่อมีสินค้าโดนใจ บวกกับมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน งานบริการไม่น้อยหน้าใคร แถมกระแสโซเชียลยังดีอีก ทำให้บริษัทมียอดสั่งจองสินค้าเข้ามาไม่ขาดสาย

ตอนนี้ FIGS มีลูกค้ากว่าครึ่งล้านคน แต่ละคนจะสั่งซื้อชุดจากบริษัทคนละประมาณ 8-12 ชุดต่อปี ตั้งแต่เปิดกิจการสามารถระดมทุนได้กว่า 70 ล้านเหรียญ รายได้ปี 2017 อยู่ที่ 24.5 ล้านเหรียญ และปีนี้ตั้งเป้าจะทำรายได้ทะลุ 100 ล้านเหรียญ

ความกดดันที่มาพร้อมการการเติบโตอย่างรวดเร็วคือต้องรักษามาตรฐานของตัวเองเอาไว้ให้ได้ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องดีไซน์สินค้าใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถ้าดูจากผลงานตลอดห้าปีที่ผ่านมาก็ถือว่า FIGS สอบผ่านมาโดยตลอด จัดเป็นสตาร์ทอัพที่มาเขย่าวงการเสื้อผ้ายูนิฟอร์มที่น่าจับตามาก ๆ รายหนึ่ง

สตาร์ทอัพไทยหากมีไอเดียแจ่ม ๆ แต่ยังเล็งหา accelerator house เพื่อช่วยผลักดันให้ความฝันเป็นจริง ลองติดตามได้ที่ dtac accelerate ที่นี่สนับสนุนความเสมอภาคและความหลากหลาย สตาร์ทอัพใน portfolio ของ dtac accelerate มีผู้ก่อตั้งหญิงถึง 40% และเราพร้อมที่จะเปิดรับสตาร์ทอัพจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย

ภาพ: https://www.wearfigs.com, https://www.inc.com

บทความนี้ดัดแปลงจากต้นฉบับของผู้เขียนที่ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “สตาร์ทอัพ ปัญหาทำเงิน” ของ นสพ. ประชาชาติธุรกิจ