LIV
Quick Tips
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการทำงาน มักมีแพะตัวเดียวกัน คือ “การสื่อสาร” บ้างก็ว่าเป็นเพราะขาดการสื่อสาร สื่อสารแล้วไม่เข้าใจกัน สารพัดที่จะกล่าวได้ว่านี่คือต้นเหตุของความไม่เข้าใจ และถึงเราจะรู้ว่าปัญหามีที่มาจากการสื่อสาร แต่ว่าจริง ๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่ที่ทำให้ยังแก้ไขการสื่อสารนั้นไม่ได้ซักที
วงการโค้ชและการพัฒนาตัวเองมีการศึกษาในเรื่องนี้อยู่ โดยเฉพาะในสายของ NLP (Neuro Linguistic Programming) ให้ความสำคัญกับความเข้าใจใน “รูปแบบ” (Pattern) เป็นอย่างมาก การเข้าใจเรื่องนี้ก็เหมือนไปนั่งในใจของผู้อื่นได้ ทำให้เรารู้ว่าเขาได้รับการจูงใจจากอะไร มีวิธีคิดอย่างไร และใน Ep.1 นี้ เราจะมาโฟกัสที่ “รูปแบบการสื่อสาร” ซึ่งแต่ละคนพัฒนามาจากประสบการณ์ ความเชื่อที่ต่างกัน ซึ่งเป็นต้นเหตุของความไม่เข้าใจ ดังนั้น การจะเข้าใจและได้ใจคนที่เราติดต่อสื่อสารด้วย ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจรูปแบบเหล่านี้ก่อน และเช่นเคย การเริ่มต้นนั้นก็ต้องเริ่มจากค้นหาว่าตัวเราเองใช้รูปแบบอะไรที่เป็นความเคยชินอยู่ จะได้เข้าใจว่าเหตุใดเราจึงเหมือนเดินคนละเส้นทางกับคนที่เราทำงานด้วยโดยไม่รู้ตัว
การสื่อสาร “ทิศทางสู่เป้าหมาย”
ในชุดทิศทางสู่เป้าหมาย และการพัฒนาตัวเอง ลองสังเกตตัวเองว่าเวลาเราได้รับมอบหมายให้ทำงานใหม่ เราพูดถึงหรือคิดถึงงานนั้นว่าอย่างไรบ้าง?
รูปแบบการสื่อสารของคุณเป็นแบบไหน
“รูปแบบ” (Pattern) หลัก ๆ ของการสื่อสารที่จะพูดถึง มี 2 รูปแบบด้วยกัน ลองสังเกตว่าตัวคุณเองหรือเพื่อนร่วมงานใช้รูปแบบการสื่อสารแบบไหนเป็นหลัก
1. รูปแบบการสื่อสาร แบบ Toward
จะมีคนบางกลุ่มนึกถึงผลลัพธ์ที่อยากได้ เห็นปลายทางที่ชัดเจนว่าต้องการทำอะไรบ้าง ดังนั้นเขาก็จะมุ่งมั่นไปให้ถึงอย่างที่ตั้งใจ คนกลุ่มนี้มีรูปแบบที่เรียกว่า Toward ถ้าสิ่งที่คุณจดไว้มีลักษณะแบบนี้ หรือมีคำว่า “ได้” “มี” “บรรลุ” อยู่ด้วยก็แสดงว่ามีแรงจูงใจในการทำงานแบบแรก เช่น ฉันจะทำงานนี้ให้สำเร็จด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ฉันพอมองเห็นแล้วว่าจะขอให้ใครมาช่วย เพื่อบรรลุเป้าหมายในเวลาที่กำหนด
2. รูปแบบการสื่อสาร แบบ Away From
และคนอีกกลุ่มหนึ่งจะนึกถึงสิ่งที่อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้เมื่อลงมือทำงาน และมักจะถนัดใช้พลังงานในการวางแผนแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค คนกลุ่มนี้เรียกว่ามีรูปแบบที่เรียกว่า Away From ใช่เลยหากคุณจดความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ด้วยคำว่า “หลีกเลี่ยง” “ไม่มี” เช่น ถ้ารับงานนี้มา เราต้องวางแผนให้ดี หลีกเลี่ยงจุดเสี่ยง ถ้ามีแผนที่รัดกุม เราก็จะไม่ต้องมาเสียดายเวลาที่ทุ่มเทไป
การสื่อสารแบบไหนจึงจะดี
ทั้งสองรูปแบบไม่มีใครดีกว่าใคร เพียงแค่เข้าใจตนเองว่าเรามีรูปแบบอะไร ก็จะรู้ว่าเราต้องระมัดระวังเรื่องอะไรบ้างเมื่อทำงานร่วมกับคนอื่น คนที่มีรูปแบบ Toward ก็มักจะมองไม่เห็นปัญหา ส่วนคนในรูปแบบ Away From ก็อาจไม่ได้โฟกัสเป้าหมายเท่าไรนัก เพราะมองเห็นแต่ปัญหา
ตัวช่วยในการสื่อสาร “ทิศทางสู่เป้าหมาย”
ถ้าเรารู้ว่าตัวเองจัดอยู่ในรูปแบบแรก (Toward) ก็อาจจะลองหาเพื่อนร่วมงานที่คอยช่วยดูแลเรื่องการวางแผน และมองเห็นปัญหามาร่วมทีม เพื่อให้เกิดความบาลานซ์ และงานไม่เกิดความผิดพลาด
สำหรับคนในแบบที่สอง (Away From) ก็น่าจะทบทวนแผนการทำงานให้ดี และจัดอันดับความสำคัญเพื่อไม่ให้เผลอใช้เวลากับการแก้ปัญหา จนลืมเป้าหมายที่ต้องการไปเสีย
และหากคุณเป็นหัวหน้างานที่มีลูกทีม ก็น่าจะลองปรับวิธีการสื่อสารกับคนแต่ละประเภทดูว่าการสื่อสารด้วยคำพูดแบบไหนที่จะก่อให้เกิดแรงจูงใจในการทำงานและการพัฒนาตัวเองสำหรับคนแต่ละประเภท เช่น คนที่เป็น Toward จะสังเกตว่าถ้าพวกเขาไม่เห็นเป้าหมาย ไม่รู้ว่าต้องการผลลัพธ์อะไร ก็จะไม่สามารถนำเสนอผลงานออกมาได้ คนที่เป็น Away From ก็น่าจะใช้ชุดคำพูดที่ต่างกัน โดยโฟกัสที่ปัญหาและวิธีการรับมือกับปัญหา ก็จะทำให้เขามีความกระตือรือร้นขึ้นมาได้
นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการสื่อสารที่ทำให้คนเราแตกต่างกันในอีกหลายด้านที่จะนำมาแชร์ในตอนต่อไป แต่หลักการของทั้งหมดก็คือให้เราหัดสังเกต และพัฒนาตัวเองจากข้อควรระวัง
เครดิต: Quick Tips ในตอนนี้มีที่มาจากหนังสือ “สื่อสารให้ได้ใจ ไขความลับ (สมอง) คน” ของ ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข และ อ.รงค์ จิรายุทัต ซึ่งโค้ชป้าไปร่วมฝึกฝนในเวิร์กช็อปที่อาจารย์ทั้งสองท่านจัดขึ้น ด้วยแนวความคิดที่ว่าเพียงแค่เราใส่ใจกับความสามารถตามธรรมชาติที่เรามี เราก็สามารถพัฒนาตัวเองได้ง่ายขึ้น