สิทธิมนุษยชน...

เรื่องพื้นฐานที่เราต้องใส่ใจ

 
อุตสาหกรรมโทรคมนาคมนั้นเป็นตัวกลางเชื่อมต่อผู้คนให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ดีแทคเล็งเห็นถึงความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนในสภาพแวดล้อมที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ เราจึงให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานและการยกระดับสิทธิมนุษยชนในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจของเรา
 
หนึ่งในสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมโดยตรง คือสิทธิในข้อมูลข่าวสาร (Right to Information) และเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) โดยดีแทคมุ่งส่งเสริมสิทธิดังกล่าวทั้งผ่านบริการการเชื่อมต่อที่ปลอดภัย ทั่วถึง และเท่าเทียม และการส่งเสริมให้พนักงานแสดงความคิดเห็นและสนับสนุนการสื่อสารที่โปร่งใสภายในองค์กร

 

รู้หรือไม่! แค่ปรับจอให้เป็นขาวดำก็ประหยัดพลังงานไปถึง 20% คุณก็มีส่วนในการช่วยลดสภาวะอากาศรวนได้!

สิทธิมนุษยชน...กระจกสะท้อนความรับผิดชอบขององค์กร

 

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเผชิญความเสี่ยงด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chains) ตั้งแต่เงื่อนไขการทำงานและการปฏิบัติต่อแรงงาน สิทธิแรงงานที่เป็นพนักงาน ไปจนถึงสิทธิของผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์

 

ดีแทคจัดทำนโยบายการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบโดยยึดมั่นมาตรฐานสากล ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UN Universal Declaration of Human Rights) และอนุสัญญาหลักขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO Core Conventions)

 

นอกจากนี้ ดีแทคยังได้ดำเนินการสอบทานประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อช่วยระบุประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

 

 การสอบทาน 

 ด้านสิทธิมนุษยชน 

ดีแทคยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) โดยบริษัทนั้นต้อง “รู้” และ “แสดงออก” ว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการดำเนินงานและความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

 

ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ต้องอาศัยกระบวนการสอบทานด้านสิทธิมนุษยชน (human rights due diligence) ซึ่งมีกระบวนการทำงานดังต่อไปนี้
 
  1. การประเมินผลกระทบทางด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจริงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
  2. การบูรณาการและดำเนินงานในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ค้นพบจากกระบวนการสอบทาน
  3. การติดตามผล
  4. การสื่อสารเกี่ยวกับวิธีการระบุและรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้น
 
ดังนั้น ดีแทคจึงได้กำหนดให้มีการสอบทานประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence) เป็นประจำทุก ๆ 2 ปี กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร และเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความยั่งยืน
 
ในปี 2565 ดีแทคได้ร่วมกับ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ในการสอบทานประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งในกระบวนการสอบทานได้มีการทบทวนเอกสารรายงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความเสี่ยงสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลก และกรอบการประเมินของเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นรายสำคัญของดีแทค เพื่อนำมาใช้เป็นกรอบอ้างอิงกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งนอกเหนือจากความท้าทายเฉพาะด้าน อาทิ ประเด็นคำขอข้อมูลส่วนบุคคลจากภาครัฐ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยนั้นโดยรวมค่อนข้างสอดคล้องกับทิศทางโทรคมนาคมโลก
 
ในการจัดอันดับความเสี่ยงของประเด็นต่างๆ นั้น จะมีการมุ่งความสำคัญอันดับแรกไปที่ประเด็นที่ไม่สามารถเยียวยาได้ เช่น ประเด็นเรื่องความปลอดภัยที่นำไปสู่การเสียชีวิตหรือทุพพลภาพจากการทำงาน ซึ่งประเด็นความเสี่ยงเหล่านี้จะถูกนำมาเปรียบเทียบกับการดำเนินงานของดีแทค โดยอ้างอิงข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ  รวมทั้งการทบทวนเอกสาร แนวนโยบาย มาตรการ แนวปฏิบัติภายในองค์กร เป็นต้น
 

 การปฏิบัติตามคำขอ 

 ของหน่วยงานภาครัฐ 

 

ในหลายกรณี การปฏิบัติตามคำขอของหน่วยงานภาครัฐ (authority request) อาจถูกมองว่ามีความเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การขอข้อมูลส่วนบุคคล การปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาในโลกออนไลน์ และการระงับสัญญาณในบางพื้นที่
 
ดีแทคกำหนดหลักการปฏิบัติตามคำร้องขอของหน่วยงานภาครัฐอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายไทย หลักสิทธิมนุษยชน และขอบเขตการให้ข้อมูลโดยอ้างอิงจากวัตถุประสงค์ ที่ผ่านมา ดีแทคได้เพิ่มความโปร่งใสในการทำงาน ด้วยการเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติตามคำขอของหน่วยงานภาครัฐสู่สาธารณชน เพื่อลดความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ดียิ่งขึ้น
 

 แพลตฟอร์ม Open Talk 

 
หนึ่งในเครื่องมือที่เราใช้เพื่อส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) ภายในองค์กร คือแพลตฟอร์ม Open Talk ซึ่งมีไว้สำหรับพนักงานในการสื่อสารกับผู้บริหารระดับสูงของดีแทคโดยตรง พนักงานสามารถเข้าไปตั้งคำถามหรือข้อสงสัยต่างๆ โดยตัวแพลตฟอร์มจะไม่เปิดเผยชื่อหรือตัวตนของผู้ส่งคำถาม และจะไม่มีการบันทึกข้อมูลของผู้ส่งคำถามในระบบ แพลตฟอร์มดังกล่าวทำให้ผู้บริหารระดับสูงได้รับทราบถึงปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ จากพนักงาน ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการทำงานและประสบการณ์ของพนักงานให้ดียิ่งขึ้น
 
“ความท้าทายในเรื่องสิทธิมนุษยชนในบริบทของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มันเกี่ยวโยงถึงการเชื่อมต่อหรือ connectivity ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ เราสามารถใช้บริการการเชื่อมต่อในฐานะตัวกลางหรือ ‘enabler’ ให้การสื่อสารและการส่งต่อข้อมูลให้มันรวดเร็วขึ้น แต่พอทุกอย่างมันเร็ว มันอาจทำให้เกิดการส่งต่อข้อมูลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดความปลอดภัย หรือข้อมูลที่สร้างความเกลียดชังให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มนึง

 

รัชญา กุลณพงษ์
ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน ดีแทค