ข้อความจากซีอีโอ

สารจากประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

ปีแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปี 2561 นับเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของสังคมโลก ทั้งในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ

ขณะที่ ประเทศไทยกำลังเร่งเดินหน้าโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้นโยบาย "ประเทศไทย 4.0" โดยมีเป้าหมายก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value–Based Economy) ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความสมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ในฐานะผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ที่มีลูกค้ากว่า 20 ล้านราย ดีแทค ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์ “Empowering Societies” บนแนวคิด “การสร้างคุณค่าร่วม” (Creating Shared Value: CSV) เพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและวิธีดำเนินการให้เกิดประโยชน์แก่ธุรกิจและสังคมร่วมกัน

การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา เพราะเป็นปีที่สิ้นสุดระบบสัมปทาน และก้าวสู่ระบบใบอนุญาตอย่างเต็มรูปแบบ โดยสัญญาสัมปทานระหว่างดีแทคและบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) นับเป็นสัญญาฉบับสุดท้ายของอุตสาหกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจอีกนานัปการ

ในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบใบอนุญาตนี้ ดีแทค ได้บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดถือประโยชน์ของลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งดีแทคได้เตรียมพร้อมการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานไว้ล่วงหน้าด้วยการแจ้งเตือนลูกค้าล่วงหน้าผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อลดผลกระทบของลูกค้า ควบคู่ไปกับการให้สิทธิประโยชน์ทางการตลาด เช่น การจัดส่ง SIM Card และโทรศัพท์มือถือที่สามารถรองรับระบบ 3G/4G ไปให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ดีแทค ยังได้วางแผนพัฒนาโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและตอบสนองความต้องการใช้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะใช้เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า (2561-2575) เช่น การลงนามสัญญากับ บมจ. ทีโอที เพื่อเปิดให้บริการ 4G LTE-TDD บนคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่มีแบนด์วิดท์กว้างที่สุดถึง 60 MHz เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการเปิดปิติใหม่ในการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz จำนวน 10 MHz มูลค่า 12,000 ล้านบาท การทำสัญญาร่วมเป็นพันธมิตรกับ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และการเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz จำนวน 10 MHz มูลค่ากว่า 38,000 ล้านบาท สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ดีแทค ยังให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า โดยดำเนินมาตรการตามหลักปฏิบัติของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป General Data Protection Regulation (GDPR) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ชัดเจน และตรวจสอบได้

การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี

ดีแทคยังคงพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคดิจิทัล ภายใต้กรอบ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ของสหประชาชาติ หรือ UN Sustainable Development Goals ระยะเวลา 15 ปี (2558-2573) โดยเฉพาะเป้าหมายข้อที่ 10 ที่มุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำทั้งในและต่างประเทศ (Goal 10: Reduced Inequalities) โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ดีแทคมีความเชี่ยวชาญในการสร้างความเท่าเทียมด้านรายได้ผ่านโมเดลการสร้างคุณค่าร่วม

จากการที่ภาคการเกษตรมีแรงงานมากถึง 1 ใน 3 ของประเทศ โดยส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาด้านการผลิตตกต่ำและมีความยากจน ดังนั้น ดีแทค จึงได้ริเริ่มโครงการ Smart Farmer ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสังคมหลักเพื่อติดอาวุธให้เกษตรกรไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ดีแทคได้สนับสนุนเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 122,000 ราย ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน ส่งเสริมความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ การนำเทคโนโลยีอินเทอร์เนตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) มาช่วยจัดการเรื่องการเพาะปลูก

ล่าสุด ดีแทคได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “ฟาร์มแม่นยำ” ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่าย และมีรายได้มากขึ้น โดยแอปให้บริการ 3 ฟีเจอร์หลัก คือ การพยากรณ์อากาศเฉพาะพื้นที่ ซึ่งมีความแม่นยำระดับรายแปลงมากที่สุดในประเทศไทย การตรวจสุขภาพพืช เพื่อหาความผิดปกติและปัญหาของพืชได้ (เช่น การกำจัดแมลงศัตรูพืช และการให้ปุ๋ย) และฟังก์ชันผู้ช่วยส่วนตัวที่ช่วยในการวางแผนเพาะปลูก  

นอกจากนี้ ดีแทค ยังได้ผนึกกำลังกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) สร้างห้องปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์หรือ AI Lab ด้วยงบลงทุนกว่า 10 ล้านบาท เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์รองรับความท้าทายทางธุรกิจจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ซึ่ง AI Lab จะเป็นแหล่งเรียนรู้ ค้นคว้าวิจัย และสร้างสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยี AI  

ขณะเดียวกัน ดีแทค ได้นำเทคโนโลยีโครงข่ายระบบชุมสายเสมือน (Visualized Core Network: VCN) มาใช้เป็นรายแรกในไทย เพื่อเตรียมพร้อมการก้าวสู่เทคโนโลยี 5G อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองรูปแบบการใช้งาน

การเปลี่ยนผ่านเชิงพฤติกรรม

การพัฒนาเทคโนโลยีได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนในสังคมทั้งทางบวกและทางลบ การใช้เทคโนโลยีที่ขาดความรู้ย่อมก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมาย เช่น ปัญหา “การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์” (Cyber bullying) ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน

ดีแทคได้ตระหนักถึงผลกระทบเชิงพฤติกรรมจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี จึงได้จับมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และมูลนิธิแพทธ์ทูเฮลธ์ เปิดห้องแชท Child Chat Line เพื่อลดปัญหากลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ และสร้างอินเนอร์เน็ตปลอดภัย โดยเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหา สามารถเข้าถึงระบบการให้คำปรึกษา/แนะนำ ผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชน ตลอดจนการให้คำปรึกษาเบื้องต้นทางเทคนิคสำหรับการส่งต่อกรณีที่มีการกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์

นอกจากนี้ ดีแทคยังได้ริเริ่มโครงการ “พลิกไทย” เพื่อเปิดพื้นที่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวคิดหรือกิจกรรมที่นำไปสู่การแก้ปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งหลายโครงการได้รับการต่อยอดให้ปฏิบัติได้จริง เช่น โครงการพัฒนาเครื่องฝึกหัดพิมพ์อักษรเบรลล์ การสร้างไม้พยุงเดินสำหรับผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยี IoT และแชทบอทเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง เป็นต้น

ภายใต้บริบทสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดีแทค มุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ บนค่านิยม “หลักความยั่งยืน” ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อยืดหยัดเคียงข้างกับลูกค้า สังคม และประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

นายบุญชัย เบญจรงคกุล

ประธานกรรมการบริษัท

นางอเล็กซานดรา ไรช์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร