เก่งในแบบของตัวเอง Ep.2 สูตรเฉพาะของคุณเอง เก่งในแบบของตัวเอง Ep.2 สูตรเฉพาะของคุณเอง
โค้ชป้า

โค้ชป้า

13 สิงหาคม 2562

SHARE THIS

ความถนัดที่ซ่อนอยู่ในตัวคุณ - LIV

ต่อเนื่องมาจาก ตอนที่แล้ว เก่งในแบบของตัวเอง Ep.1 ไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนใคร ในตอนนี้จะพาผู้อ่านมาค้นพบแนวทางการรับสารและประมวลข้อมูลอีก 3 แบบว่าจะใช่สิ่งที่คุณถนัดหรือไม่

แบบที่สอง Auditory สำหรับคนที่ถนัดการฟัง การได้ยินเสียง เรียนรู้จากการได้ฟัง ได้พูดคุย เพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลในความคิด เสียงต่าง ๆ ก็มักจะเข้ามาสู่การรับรู้ได้ง่าย อาจจะมีตั้งแต่ชอบฟังเพลง ไปจนถึงไม่ชอบฟังเพลงหรือเสียงอะไรเลย เพราะเซนซิทีฟกับเสียงมากกว่าคนอื่น คนที่ถนัดแบบนี้ก็มักจะพูดได้เป็นจังหวะจะโคน เนื่องจากฟังเสียงตัวเองได้ชัด จึงสามารถเปล่งเสียงออกมาได้อย่างไพเราะ คำพูดติดปาก เช่น ได้ยิน ได้คุย ฟัง เล่า หากต้องการหาข้อมูลหรือเข้าใจเรื่องราว ก็มักจะใช้การสอบถาม พูดคุย หรือโทรหา เพื่อให้ได้ยินเสียง

ในการทำงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก็ลองใช้ช่องทางการสื่อสารที่ถนัดเพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าเรารับข้อมูลได้ครบ หรือหากคุณไม่ถนัดฟัง แต่สังเกตว่าเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือลูกค้า เป็นคนชอบถาม ชอบคุย ก็อย่าเพิ่งตัดบท เขาเพียงอาจจะกำลังทำความเข้าใจคุณหรือเข้าใจงานอยู่ ลองใช้การเล่าให้ฟังบ้าง อาจทำให้งานราบรื่นและเข้าใจกันได้ดียิ่งขึ้น ข้อนี้อาจเป็นเหตุผลที่ผู้ให้บริการมือถือจะยังมี Call Center หรือพนักงานคอยตอบคำถามลูกค้า อย่างดีแทคก็เปิดช่องทางให้ลูกค้าสอบถามกับพนักงานได้ ทั้งเช็คยอดเงินดีแทค เช็คโปรดีแทค เช็คเน็ตดีแทค และอื่น ๆ ผ่านทาง 1678 หรือบริการ IVR ฟังเสียงอัตโนมัติ สำหรับลูกค้าที่สะดวกรับข้อมูลโดยการฟัง

เก่งในแบบของตัวเอง แบบที่ 3 Kinesthetic หรือความรู้สึก คนที่ถนัดแบบนี้ก็จะเข้าใจเรื่องราวและสื่อสารผ่านทางความรู้สึกเป็นหลัก ความรู้สึกทำให้พวกเขาเซนซิทีฟ เข้าใจ และตัดสินใจได้ เวลาคุยกันก็มักจะมีสายตาเหลือบมองต่ำค่อนมาทางด้านซ้าย ของคู่สนทนา และมักพูดในจังหวะช้า ไม่เร็วนัก เพราะจะต้องอาศัยการดึงความรู้สึกขึ้นมาจากในตัวเอง คำพูดที่มักพูดบ่อยโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าคนจะถามความคิดเห็นอย่างไร ก็มักจะตอบว่า รู้สึก...

ความไวต่อความรู้สึกของคนในแบบนี้ มีตั้งแต่ความรู้สึกทางกาย จึงมักจะชอบสวมใส่เสื้อผ้าหรือใช้กระเป๋าที่มีความนิ่มมากกว่าคนแบบอื่น และในด้านความรู้สึกจากภายใน พวกเขาจะเข้าใจคำศัพท์ที่เกี่ยวกับความรู้สึกได้กว้างกว่าคนทั่วไป และเรียนรู้ได้ดีจากการสัมผัส หรือมีประสบการณ์ลองทำ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง

ในการทำงานของคนที่ไวต่อความรู้สึกเช่นนี้ก็สามารถนำจุดเด่นของตัวเองมาใช้ในการเรียนรู้และเข้าใจงานจากการได้ลอง ได้มีประสบการณ์ตรง เพราะเป็นวิธีที่จะช่วยให้เข้าใจได้เร็วกว่าอย่างอื่น ในการพรีเซนต์งาน คนสไตล์นี้อาจลองใช้ความรู้สึกให้เต็มที่ในตอนซ้อม เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของความรู้สึก เมื่อถึงเวลานำเสนอจริงก็อย่าโฟกัสที่การท่องจำ แต่ให้ดึงมาจากความรู้สึก แบบนี้ก็จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพในแบบฉบับของตัวเอง และในทางกลับกัน ถ้าเราทำงานบริการลูกค้า หรืองานขายสินค้าใด ๆ ก็ลองสังเกตดูว่าลูกค้ามีพฤติกรรมแบบที่กล่าวมาแล้วด้านบนหรือไม่ ถ้าใช่ ก็ควรเสนอให้เขาได้จับต้องสินค้า ได้ลองถ่ายรูป ลองเล่นวิดีโอ ลองนั่ง ลองใช้งาน เป็นต้น

แบบที่ 4 สุดท้ายคือ Auditory Digital คนที่มักจะชอบคุยกับตัวเองในหัว มีความคิดมากมาย และชอบข้อมูลจำนวนมาก หลากหลายแง่มุม ในการตัดสินใจ มักจะต้องการเวลาศึกษาข้อมูล เสิร์ชหาข้อมูลจนพอใจเสียก่อน จึงจะตัดสินใจหรือลงมือทำงาน เวลาสนทนากันสามารถสังเกตได้ว่าจะเหลือบตามองต่ำ ค่อนมาทางด้านขวาของคู่สนทนา หรือไม่ก็มองราวกับทะลุตัวของคนที่คุยด้วยไปเลย เพราะจะต้องผ่านการคิด กลั่นกรองในหัวก่อน จึงอาจไม่ได้โฟกัสที่ตัวคนที่คุยด้วยมากเท่ากับคนแบบอื่น มักจะพูดช้า หรือบางครั้งอาจเป็นลักษณะเสียงโมโนโทน เพราะความคิดก็จะไม่ได้มีความรู้สึก จังหวะ หรือสีสันเท่ากับคนที่ถนัดแบบอื่น คำพูดติดปาก หนีไม่พ้น คำว่า คิดว่า...

ในการทำงาน คนที่ถนัดคิดรู้ดีว่าจะต้องใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐาน และสามารถรวบรวมข้อมูลได้เก่งจากแหล่งต่าง ๆ กัน เขาจะรู้ว่าถ้าต้องการรู้ จะสามารถหาข้อมูลได้จากที่ไหนบ้าง และสิ่งใดเชื่อถือได้ การมีความคิดเป็นตรรกะ มีเหตุผล มีข้อมูลรองรับ ทำให้สร้างความน่าเชื่อถือได้ไม่ยาก เมื่อรู้จุดแข็งอย่างนี้แล้วก็อย่าลืมว่า การคิด บางครั้งอาจทำให้เกิดความล่าช้าได้ ข้อควรระวังคือหากใช้เวลาศึกษามากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อผู้ร่วมงานได้ อาจจะลองตัดสินใจบนข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นก่อน ในทางกลับกัน หากเราได้ทำงานกับคนสไตล์นี้ เช่น เรามีหัวหน้าที่ใช้ความคิดเป็นหลัก ก็ต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อมและรอบด้าน เพื่อให้หัวหน้าตัดสินใจได้อย่างมั่นใจ

เคล็ดไม่ลับในการเก่งในแบบของตัวเอง ทั้ง 4 แบบก็คือ การสังเกตตัวเองและคนที่ทำงานด้วยบ่อย ๆ ยิ่งสังเกตมาก และฝึกฝนในแนวทางของตัวเองมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งชำนาญ และพัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้น จากทักษะที่มีอยู่แล้วในตัว ถึงแม้ว่าจะได้รับงานใหม่ โปรเจ็กต์ใหม่ ก็ประยุกต์ความเป็นเราเข้ากับงาน หรือการเรียนได้ โดยไม่ต้องห่วงว่าจะตามใครไม่ทัน

โปรโมชันแนะนำ

บทความแนะนำ