ทำความเข้าใจการลดหย่อนภาษีพร้อมทั้งเทคนิคและสิทธิในการลดหย่อนภาษีปี 2565 ทำความเข้าใจการลดหย่อนภาษีพร้อมทั้งเทคนิคและสิทธิในการลดหย่อนภาษีปี 2565
GAT

GAT

26 ธันวาคม 2565

SHARE THIS

ลดหย่อนภาษี

เข้าสู่ช่วงปลายปีไปจนถึงต้นปีถัดไป นอกจากจะเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองแล้ว ก็ถือยังเป็นช่วงแห่งการยื่นภาษีเงินได้อีกด้วย โดยเฉพาะเหล่าพนักงานออฟิศที่มีรายได้ประจำ ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจการลดหย่อนภาษีพร้อมทั้งเทคนิคและสิทธิในการลดหย่อนภาษีปี 2565 กันว่าจะมีอะไรบ้าง

ผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคือใครบ้าง

ในเมืองไทยผู้ที่มีรายได้จะต้องมีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย ซึ่งสำหรับฝั่งที่เป็นบุคคลธรรมดา ก็มีแบ่งกลุ่มรายได้หรือเงินได้ออกเป็น 8 ประเภทย่อย ๆ โดยหากเป็นพนักงานเงินเดือน จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเงินได้ประเภทที่ 1 ส่วนรายได้ประเภทที่ 2-8 เช่น ค่ารับจ้างทำงาน ค่าวิชาชีพอิสระ ดอกเบี้ย ปันผล รวมถึงเงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์

สำหรับการคำนวณภาษี ในบทความนี้เราจะเน้นไปที่ผู้มีเงินได้ประเภทที่ 1 หรือเหล่าชาวออฟฟิศนั่นเอง โดยสูตรคำนวณคือ

เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ

โดยค่าใช้จ่ายที่สามารถหักลบออกไปได้ จะอยู่ที่ 50% ของเงินได้แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งทุกคนที่เข้าข่ายคำนวณภาษีรูปแบบนี้จะทำได้ทันที ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้เราสามารถจ่ายภาษีได้ถูกลง ก็คือเหล่ารายการค่าลดหย่อนที่แต่ละคนจะมีไม่เหมือนกัน เราไปดูกันว่าค่าลดหย่อนภาษีปีนี้มีอะไรบ้าง

ค่าลดหย่อนภาษี ปี 2565

ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว
สำหรับค่าลดหย่อนภาษีรายการนี้ สามารถลดได้ทันที 60,000 บาท

2. ค่าลดหย่อนภาษีคู่สมรส
หากคู่สมรสของเราเป็นผู้ไม่มีรายได้ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อีก 60,000 บาท

3. ค่าลดหย่อนภาษีบุตร
สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ คนละ 30,000 บาท แต่หากบุตรเกิดตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ คนละ 60,000 บาท ทั้งนี้บุตรจะต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรือไม่เกิน 25 ปี ซึ่งกำลังศึกษาในระดับชั้นอนุปริญญาหรือปริญญตรีขึ้นไป จึงจะใช้สิทธิได้

4. ค่าลดหย่อนภาษีบิดามารดา สิทธิลดหย่อนภาษีในข้อนี้สามารถใช้สิทธิทั้งพ่อแม่ของเรา และพ่อแม่แท้ ๆ ของคู่สมรส หากคู่สมรสเป็นผู้ไม่มีรายได้ในปีภาษีนั้น ๆ ด้วย ซึ่งหลักเกณณ์คือ พ่อแม่จะต้องอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และเป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษี เราจึงจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาทต่อคน เช่น พ่อ 1 คน แม่ 1 คน เราจะลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด 60,000 บาท

5. ค่าลดหย่อนภาษีผู้พิการหรือทุพพลภาพ
หากใครที่มีการดูแลผู้พิการหรือทุพพลภาพ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ คนละ 60,000 บาท แต่ผู้ที่เราดูแลต้องมีรายได้ตลอดปีรวมกันไม่เกิน 30,000 บาท แบบไม่คิดรวมเงินได้ที่ได้รับการยกเว้น

6. ค่าลดหย่อนภาษีฝากครรภ์และทำคลอด
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ครอบครัวไหนที่มีการคลอดบุตรในปีภาษีนั้น ๆ สามารถนำค่าใช้จ่ายตามจ่ายจริง ทั้งค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริง ไม่เกิน 60,000 บาทต่อ 1 ท้อง ดังนั้นหากเป็นลูกแฝดแต่คลอดท้องเดียว นับเป็น 1 ท้อง ก็ใช้สิทธิได้เพียง 60,000 บาทเท่านั้น โดยสิทธินี้จะเป็นของทางภรรยาที่มีการยื่นภาษีก่อน หากภรรยาไม่จำเป็นต้องยื่นภาษี สามีจึงสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีข้อนี้ได้

ค่าลดหย่อนภาษีจากกลุ่มการลงทุนหรือกองทุนต่าง ๆ

1. ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป/เงินฝากแบบมีประกัน
สำหรับใครที่มีการทำประกันชีวิตให้ตัวเอง หรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิต สามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

2. ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันสุขภาพตนเอง
ในส่วนของค่าลดหย่อนภาษีข้อนี้ สามารถใช้สิทธิได้ตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และหากรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปต้องไม่เกิน 100,000 บาท

3. ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา
สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และหากมีพี่น้องที่ต้องการใช้สิทธิในส่วนนี้ ก็ต้องนำ 15,000 หารจำนวนคนที่ต้องการใช้สิทธิ เช่น 15,000 ÷ 2 = 7,500 ดังนั้นพี่น้อง 2 คนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีข้อนี้ได้คนละ 7,500 บาท

4. ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยเงินประกันสังคม
สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริง ปกติแล้วสูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท แต่ในปีภาษี 2565 มีการลดเบี้ยประกันสังคม ทำให้ใช้สิทธิได้สูงสุด 7,200 บาท

5. ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาทหากรวมกับข้อ 6 แล้ว และไม่เกิน 500,000 บาท หากรวมกับ RMF

6. ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนทั้ง 3 ก้อนแล้ว

7. ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ แต่หากรวมกับข้อ 6 แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

8. ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ใช้สิทธิได้ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 13,200 บาท และเมื่อรวมกับข้อ 5-7 ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

9. ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท แต่หากรวมกับข้อ 5 - 8 แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ

1. ค่าลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยบ้าน
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

2. ค่าลดหย่อนภาษีเงินบริจาคพรรคการเมือง
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท

3. ค่าลดหย่อนภาษีเงินบริจาคเพื่อการศึกษา
ใช้สิทธิได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้ หลังจากที่หักค่าลดหย่อนข้ออื่น ๆ แล้ว

4. ค่าลดหย่อนภาษีเงินบริจาคทั่วไป
ใช้สิทธิได้ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้ หลังจากที่หักค่าลดหย่อนข้ออื่น ๆ แล้ว

ค่าลดหย่อนภาษีอัปเดตใหม่ของปี 2565

1. ค่าลดหย่อนภาษีเงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise
สำหรับใครที่ได้ร่วมลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง หรือผู้ลงทุนก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท

2. ค่าลดหย่อนภาษีจากโครงการชอปดีมีคืน
นอกจากนี้ทางรัฐบาลได้มีโครงการชอปดีมีคืน สำหรับผู้ที่ซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่ร่วมรายการเมื่อวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2565 ให้สามารถนำค่าซื้อของมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิทธิลดหย่อนภาษีของเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2565 ซึ่งสำหรับใครที่มีรายได้ อย่าลืมเริ่มต้นวางแผนคำนวณเงินภาษีที่เราต้องจ่าย รวมถึงใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่ตัวเองมี นอกจากนี้การวางแผนภาษีก็ยังช่วยให้เราจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง พร้อมแบ่งเบาภาระทางภาษีได้อีกด้วย สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ กรมสรรพากร

โปรโมชันแนะนำ