เก่งในแบบของตัวเอง Ep.1 ไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนใคร เก่งในแบบของตัวเอง Ep.1 ไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนใคร
โค้ชป้า

โค้ชป้า

23 กรกฎาคม 2562

SHARE THIS

เคล็ดลับในการทำให้ประสบความสำเร็จ ต้องทำอย่างไร - LIV

เคยสังเกตกันบ้างหรือเปล่าว่าเรามีวิธีการเรียนรู้ที่เป็นของตัวเอง ที่เหมาะสมกับตัวเรา ส่วนคนอื่น ๆ ก็มีวิธีการที่เป็นรูปแบบเฉพาะตัวของเขา เวลาที่ใครทำอะไรสักอย่างหนึ่งได้ดี เช่น เรียนได้เกรดดี พรีเซนต์งานได้อย่างราบรื่น ทำยอดขายได้ทะลุเป้า ฯลฯ ก็มักมีคนสงสัยว่าเขาเหล่านั้นมีเคล็ดลับอย่างไร หนังสือประเภทกลเม็ดเคล็ดลับต่าง ๆ จึงเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก และถึงเราจะอ่านหนังสือเหล่านี้จนทะลุปรุโปร่งแล้วก็ตาม เราก็อาจจะทำได้เหมือนคนต้นแบบนั้นแค่บางส่วน หากต้องการทำได้จริง ๆ เราต้องมาหาสูตรเฉพาะของตัวเราเอง

นอกจากสภาพแวดล้อม แรงจูงใจ และประสบการณ์ที่ต่างกันแล้ว ยังมีองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งที่มีส่วนเป็นอย่างมากในการพัฒนาตัวเอง นั่นคือ ระบบการรับและส่งข้อมูลที่แต่ละคนมีอยู่ในตัวของเราเอง ซึ่งในการโค้ชถือว่าการหันกลับเข้ามาสนใจพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ในตัวเรานี้ จะเป็นการเปิดแหล่งทรัพยากรด้านใน ทำให้เกิดการ stretch ของคน ๆ นั้น และส่งผลในระยะยาวมากกว่า

มีเครื่องมือทางการโค้ชหลายอย่างที่สามารถนำมาใช้ได้ผลในเรื่องนี้ ผู้เขียนจะขอแนะนำวิธีการที่ผู้อ่านสามารถนำไปทำเองได้ไม่ยาก เป็นเรื่องที่ผู้เขียนเรียนและฝึกฝนมาจากวิชา NLP (Neuro-Linguistic Programming) ซึ่งส่วนหนึ่งศึกษาการทำงานของระบบเรียนรู้ในบุคคล จำแนกการเรียนรู้ผ่านการรับและส่งข้อมูลออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามความถนัดในการรับรู้ การจะรู้ว่าเราเป็นคนใช้ระบบไหนเป็นหลัก ปกติก็มักจะมีแบบสอบถามให้ตอบ แต่ว่าไม่จำเป็นมากนัก เรื่องนี้พอจะนำมาสังเกตเองได้ไม่ยาก และเป็นการฝึกฝนการสังเกตตัวเองไปด้วยในตัว

แบบแรก คนที่ถนัดทางด้าน Visual หรือการมองเป็นภาพ จะเรียนรู้และเข้าใจข่าวสารได้ดีจากการได้เห็น ได้มองภาพรวม ถูกดึงดูดจากสีสัน แม้กระทั่งเวลาพูดก็มักจะมีคำว่า “เห็น” “มอง” “ดู” ร่วมอยู่ด้วยโดยไม่รู้ตัว มักจะพูดเร็วเพราะในหัวคิดเป็นภาพที่แฟลชขึ้นมา เวลาอธิบายถึงเหตุการณ์อะไรแล้วละก็ ผู้ฟังจะเห็นภาพที่มีสีสันแจ่มชัดเลยทีเดียว ลองสังเกตว่า ถ้าเราเป็นคนที่ถนัดแบบนี้ เวลาดูข้อมูลก็จะชอบเนื้อหาที่รวบรวมไว้แล้ว สรุปเป็นกราฟ หรือเป็นภาพ หรือเข้าใจสถานการณ์จากภาพรวมก่อน มักจะตาลาย ถ้าต้องอ่านตัวหนังสือเยอะ ๆ

เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน เช่น การอ่าน ทำความเข้าใจข้อมูล ให้เริ่มจากภาพรวมก่อน โดยถามตัวเองว่า ประเด็นของเรื่องนี้คืออะไร มีวัตถุประสงค์หรือทิศทางอย่างไร เราต้องการรู้อะไรบ้าง และส่วนไหนที่เป็นประโยชน์ ส่วนไหนอาจไม่ใช่สาระสำคัญ ในกรณีที่มีภาพประกอบก็ทำความเข้าใจจากภาพ กราฟิก หรือกราฟ ได้เลย และตั้งสิ่งที่ถนัดนี้เป็นหัวข้อหลักที่จะนำรายละเอียดมาเชื่อมโยงใส่ในขั้นต่อไป

คนที่ทำงานเกี่ยวกับการขาย อาจลองใช้ประโยชน์ตรงนี้ในการตั้งข้อสังเกตกับลูกค้าว่าเป็นคนที่ใช้ Visual เป็นหลักไหม ถ้ามองภายนอกผู้ที่มี Visual แข็งแรง ก็มักจะแต่งกายด้วยสีสันสะดุดตา เพราะสีสันสื่อสารกับเขาได้ดี รวมทั้งสังเกตจากคำพูดและสายตาที่มักจะเน้นไปในการมองสีสัน และพูดด้วยจังหวะค่อนข้างเร็ว ก็ลองปรับวิธีการของตัวเองให้สื่อสารได้ตรงใจกับลูกค้ามากขึ้นอีกนิดได้ เช่น หากคุณเป็นพนักงานที่กำลังแนะนำสมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุดให้กับลูกค้าอย่าง Samsung Galaxy A80 อาจจะเริ่มที่ ฟังก์ชั่นการใช้งานของกล้องหมุนได้ 3 ตัวที่ให้ลูกค้าบันทึกเรื่องราวได้ทุกมุมมอง เปิดภาพให้ลูกค้าเห็นว่าเก็บรายละเอียดและมีมุมมองที่กว้างกว่าภาพถ่ายหรือวิดีโอจากกล้องอื่น ๆ ลองโชว์ความพิเศษของหน้าจอ Infinity Display ที่ดีไซน์ไร้ขอบ สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ ก็สามารถแจ้งลูกค้าเพิ่มเติมภายหลัง ในการขาย การสร้างแรงจูงใจเป็นเรื่องสำคัญ หากลูกค้าได้มองเห็นการทำงานที่ถูกใจตั้งแต่แรก ก็จะให้ความสนใจ รวมทั้งตัดสินใจได้ไม่ยาก
ยังมีความถนัดในการการรับรู้ในแบบอื่น ๆ อีก 3 รูปแบบ ที่สามารถนำมาพัฒนาตัวเองและปรับการสื่อสารกับผู้อื่นได้ ติดตามในตอนต่อไป

โปรโมชันแนะนำ

บทความแนะนำ