การพัฒนาตนเองด้วยวิธีการสื่อสาร - LIV
การมองเห็นรูปแบบของความต่างกัน ทำให้เราเริ่มยอมรับความแตกต่างได้ การเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจตัวเองจึงมักมีการจำแนกแยกแยะวิธีการและบุคลิกลักษณะออกมาเป็นรูปแบบ และโมเดลต่าง ๆ เพื่อให้เรามองเห็นตัวเราเองชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันก็มองเห็นว่าคนอื่น ๆ มีจุดยืนที่ต่างจากเราอย่างไรบ้าง ข้อดีของการเรียนรู้จากรูปแบบนี้ คือ เมื่อเรารู้แล้วว่า ความขัดแย้ง และไม่เข้าใจกันนั้น มีที่มาจากรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน เราก็ไม่จำเป็นต้องโกรธกันเสมอไป เพราะรูปแบบและลักษณะเหล่านี้เป็นเพียงคุณสมบัติภายนอกที่แต่ละคนพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในชีวิตและการทำงานเท่านั้น เรียกว่าแตกต่างแต่ไม่แตกแยก
ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง จึงมีแนวทางที่ให้ผู้เรียนก้าวออกมาจาก Comfort Zone ของตัวเอง เพื่อที่จะให้สามารถสื่อสารกับคนที่ไม่เหมือนกันได้ การทำแบบนี้ ในทางโค้ชมีคำศัพท์ว่า Stretch หรือ ขยายออก เพื่อให้มีศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
การสื่อสารก็เช่นเดียวกัน เรามีรูปแบบการสื่อสารอื่น ๆ ที่มีลักษณะเป็นขั้วอยู่ในหลายสถานการณ์ ซึ่งในตอนนี้ จะเป็นชุดของการตัดสินใจ
แรงจูงใจในการตัดสินใจ
คุณรู้หรือไม่ว่าคุณตัดสินใจ โดยแรงจูงใจจากแหล่งใด ที่มาของแรงจูงใจ จากหนังสือ สื่อสารให้ได้ใจ แสดงให้เห็น 2 รูปแบบคือ มาจากภายใน (Internal) และ ภายนอก (External)
- ภายใน (Internal) คนที่มีรูปแบบของแรงจูงใจมาจากภายใน หรือจากตัวเองก็มักจะเชื่อในความต้องการของตนเอง มีมาตรฐานจากภายใน โดยมีข้อมูลจากที่อื่นเป็นเพียงส่วนประกอบเพื่อพิจารณาร่วมกัน สังเกตได้ว่าคำแนะนำจากคนอื่นก็มักจะไม่ได้ผลเสมอไป เขาจะตัดสินใจเชื่อ หรือลงมือทำตามเมื่อพิจารณาดูแล้วว่าตรงกับตัวเอง คำพูดที่ใช้เมื่อต้องตัดสินใจ คือ ฉันจะใช้เวลาคิดเรื่องนี้, ขอเวลาพิจารณา และฉันเลือกได้ด้วยตัวเอง และเป็นธรรมดาที่มักจะไม่ได้ถามความคิดเห็นของคนอื่นมากนัก
- ภายนอก (External) คนที่มีแรงจูงใจจากภายนอก จะต้องการข้อมูลและความคิดเห็นจากแหล่งต่าง ๆ ก่อนที่จะเลือก มักจะเสาะแสวงหาคำแนะนำ หรือข้อเท็จจริงอื่น ๆ มาประกอบการพิจารณา โดยอาจเลือกจากมาตรฐานที่มีในสังคม หากเป็นสินค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่พัก/ให้บริการ มือถือ ก็อาจจะดูจากรีวิว และใช้ข้อมูลส่วนนี้มาเป็นหลักในการตัดสินใจ คำพูดที่ใช้บ่อย เช่น เสิร์ชดูก่อน, ฉันต้องค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมอีก, อยากรู้ว่าคนอื่นเห็นอย่างไร เป็นต้น
ตัวอย่างของการเลือกที่ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การเลือกไปชมภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง คนที่อยู่ในรูปแบบ Internal หรืออ้างอิงจากมาตรฐานภายใน ก็จะเลือกได้จากการอ่านข้อความสั้น ๆ หรือดู Trailer ว่าเป็นแนวที่ชอบหรือไม่ หรือเพียงแค่มีนักแสดงคนโปรดเล่น ก็โอเคแล้ว
ส่วนคนที่อ้างอิงข้อมูลภายนอก External ก็อาจจะต้องการข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอีกหน่อย เช่น อ่านข้อมูลเบื้องหลัง บทวิจารณ์ภาพยนตร์ และความคิดเห็นของผู้ชมคนอื่น ๆ ที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ อ้อ ขอเสริมสักนิด หากเป็นภาพยนตร์ที่ฉายในเครือของ SF Cinema หรือ Major Cineplex ลูกค้าดีแทคจะได้รับสิทธิพิเศษจากดีแทครีวอร์ดด้วย ก็จะยิ่งครบถ้วน มีเหตุผลที่สมควรไปชม
การสื่อสารกับคนที่ตัดสินใจจากมาตรฐานภายในและภายนอก
ในมุมที่เราต้องการสื่อสารกับคนที่ต่างกันนี้ หากสังเกตได้ว่าเขามักตัดสินใจและมีคำพูดแบบใด ก็จะต้องใช้คำพูดให้ตรงกันด้วย เช่น การสื่อสารกับคนที่ตัดสินใจจาก Internal อาจจะใช้คำพูดที่ทำให้เขาเห็นว่า เราให้สิทธิ์เขาได้เลือกเอง เช่น ถามความคิดเห็นเขาบ้างว่าเขาคิดอย่างไร และเน้นให้เขารู้ว่าเขาสามารถเลือกได้ด้วยตัวเอง
การสื่อสารกับคน External ก็จะเพิ่มชุดการอ้างอิงเพื่อความน่าเชื่อถือ เช่น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำในเรื่องนี้ว่า... หรือนำเสนอ / สนับสนุนให้เขาได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเพื่อประกอบการตัดสินใจ ก็จะทำให้เขามีความมั่นใจมากขึ้น และที่สำคัญทำให้การสื่อสารเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
จุดที่จะทำให้เราได้ขยายออกจากกรอบในด้านการสื่อสารนี้ อยู่ที่การหัดสังเกต เพื่อเริ่มใส่ใจคนที่เราทำงานด้วย ซึ่งจะเป็นโอกาสที่จะปรับเข้าหากัน สมัยก่อนนั้นมีคำกล่าวที่ว่า “เราพูดกับคนอื่นแบบเดียวกับที่เราอยากให้เขาพูดกับเรา” แต่ในยุคนี้อาจกล่าวได้ว่า “เราพูดกับคนอื่นในแบบที่เขาต้องการให้เราพูดกับเขา” ก็จะทำให้เราทั้งใจได้ทั้งงาน รวมทั้งได้ Stretch ความสามารถและทักษะของเราออกไป โดยที่ยังคงความจริงใจเอาไว้ได้เหมือนเดิม
เครดิต: Quick Tips ในตอนนี้มีที่มาจากหนังสือ “สื่อสารให้ได้ใจ ไขความลับ (สมอง) คน” ของ ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข และ อ.รงค์ จิรายุทัต ซึ่งโค้ชป้าไปร่วมฝึกฝนในเวิร์กช็อปที่อาจารย์ทั้งสองท่านจัดขึ้น ด้วยแนวความคิดที่ว่าเพียงแค่เราใส่ใจกับความสามารถตามธรรมชาติที่เรามี เราก็สามารถพัฒนาตนเองได้ง่ายขึ้น
โปรโมชันแนะนำ
10,700.-
ราคาปกติ 18,900.-ย้ายค่ายเหลือ 9,200.-
28,900.-
ราคาปกติ 32,900.-(เครื่องเปล่า 32,900 บาท)
บทความแนะนำ